สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี สำรวจประชากรหญิงหม้ายมุสลิมะห์ที่ตกเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ภายในจังหวัดปัตตานีและ 3 จังหวัด พบว่าสามีเสียชีวิตและถูกหย่าร้าง ถูกปล่อยให้เลี้ยงลูกโดยลำพัง มีสภาวะตกงาน และเจอพิษเศรษฐกิจรุมเร้า พร้อมช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนรอมฏอน 200 กว่ารายและส่วนที่เหลือหลังรายอฮัจญ์ปีนี้
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี(กอจ.ปัตตานี) เปิดเผยถึงการจัดทำแบบสำรวจหญิงหม้ายมุสลิมะห์ ( Ibu tungal ) ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดปัตตานี ที่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และกำลังเลี้ยงดูบุตรด้วยตัวเอง และกำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้การลงทะเบียนแบบออนไลน์ ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ ต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าและพิษโควิด อยู่ในอาการเครียดจำนวนมาก เพื่อเข้าให้ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว จากข้อมูลโดยรวมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีสถิติเด็กกำพร้า ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน
โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 65 กอจ.ปัตตานีเชิญกลุ่มหญิงหม้ายที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 252 รายมาร่วมเสวนาและรับฟังปัญหา และมอบปัจจัยเบื้องต้นก่อนรอมฏอน และส่วนที่เหลือหลังรายอฮัจญ์นี้อีกด้วย โดยข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนจำนวน 620 ราย
เกณฑ์การคัดเลือกหญิงหม้ายมุสลิมะห์ในพื้นที่จ.ปัตตานีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกกำลังเรียนในช่วงระดับอนุบาล-มหาวิทยาลัยในรอบแรกคือ 1.มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป สามีเสียชีวิตหย่าร้าง จำนวน 195 คน ไม่มีงานทำ จำนวน 56 คน ยายเลี้ยงและเป็นโรคไตสามีทิ้ง จำนวน 2 คน ลูกเรียนฮาฟิส จำนวน 2 คน รวม 252 คน
สาเหตุของการเป็นหม้ายมากที่สุดจาก สามีเสียชีวิต 64 เปอร์เซ็นต์ หย่าร้าง 33.7 เปอร์เซ็นต์ และสาเหตุอื่นๆ ตามลำดับ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป 49.7 เปอร์เซ็นต์ อาชีพอิสระ 13.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีงานทำ อาชีพเกษตรกร รับราชการ พนักงานบริษัท ตามลำดับ อ.เมืองปัตตานีมีจำนวนหญิงหม้ายมากที่สุด 22.6 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอ.สายบุรี 18.2 เปอร์เซ็นต์ อ.หนองจิก 13.1 เปอร์เซ็นต์ และอ.อื่นๆ จำนวนบุตรที่มีจำนวนมากที่สุดคือ 2 คน 31.3 เปอร์เซ็นต์ 3 คน 27.2 เปอร์เซ็นต์ และ 4 คน 17.1 เปอร์เซ็นต์
ในกิจกรรมนี้มีการอบรม “บทบาทแม่เลี้ยงเดี่ยวกับการดูแลบุตรให้อบอุ่นเมื่อขาดผู้นำครอบครัว” องค์กรและหน่วยงานที่ร่วมในครั้งนี้ อาทิ มูลนิธิคนช่วยคน เครือข่ายอาสาสมัครอัสลาม สภาเครือข่ายมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นต้น
“นับจากนี้ทางกอจ.จะดูแลตลอด โดยมีองค์กรต่างๆ มาบริจาคและให้ความช่วยเหลือเสมอ ซึ่งกอจ.ปัตตานีช่วยอำนวยความสะดวกและจัดกิจกรรม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกของผู้หญิงที่เราช่วยเหลือเพื่อให้มีความเข้มแข็งในดการดูแลลูกๆ ด้วยความอดทนและมีการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบต่อไป” ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธานกอจ.ปัตตานี กล่าว
นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ เลขานุการกอจ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการสำรวจแม่เลี้ยงเดี่ยวมุสลิมะห์ในการลงทะเบียนของกอจ.ทั้งหมดจำนวน 620 คน วันนี้ชุดแรกจำนวน 252 คน เป็นคนที่มีลูกจำนวน 3 และ 4 คน และไม่มีงานทำ ให้ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น
“ส่วนที่เหลือคือคนที่มีลูกจำนวน 1 และ 2 คน จะให้การช่วยเหลือหลังรายอฮัจญ์ปีนี้ คำว่าแม่เลี้ยงเดียวคือคนที่ดูแลลูกคนเดียวหลังจากสามีเสียชีวิตหรือหย่าร้างกันไป ใครที่มีลูกก็มาลงทะเบียนได้ เรามองทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ได้มองแค่ยากจนอย่างเดียว ข้าราชการหรือกลุ่มไหนก็ครอบคลุมสามารถลงทะเบียนได้หมด เราทำไม่ได้เรียกร้องสิทธิผู้หญิง หากเป็นการให้กำลังใจในการเลี้ยงลูก ส่วนรายละเอียดในการแยกประเภทว่าสามีเสียชีวิตด้วยเหตุใดกำลังรวบรวมอยู่ ยังไม่สมบูรณ์เพราะยังมีคนที่ยังไม่ลงทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง”
นางนะ เจ๊ะบราเฮง อายุ 53 ปี จากบ้านเกาะเปาะ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก สามีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมา 6 ปี มีลูกทั้งหมด 7 คน ลูกคนเล็ก 11 ปี คนโต 30 ปี ทำงานที่มาเลย์ เธอเลี้ยงลูกด้วยตัวเองมาตลอดที่สามีเสียชีวิตไปด้วยการกรีดยาง 2 ไร่ กรีดเสร็จก็ไปทำงานแกะหัวปลาที่แพอรุณในนิคมอุตสาหกรรมปัตตานีทุกวันเพื่อหารายได้อีกทาง
“แกะหัวปลามา 4-5 ปี กรีดยางทุกวันที่กรีดได้เพื่อให้มีรายได้พอเพียงเลี้ยงลูก แต่ของแพงทุกวัน เรามีรายได้เท่าเดิม เขาให้ความช่วยเหลือแค่ไหนก็พอใจ อยากให้มีต่อเนื่อง”
ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา / กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย บอกว่า งานนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นการรวมคนที่อัลลอฮฺให้ความรักและความสำคัญ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่กับบรรดาแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังท่ามกลางสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง
“คนอ่อนแอมักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ส่งเสียงไปก็ไม่มีใครได้ยิน สังคมจะเผชิญความเลวร้ายมากขึ้น บางครอบครัวมีครบพ่อแม่ลูก แต่ลูกๆ อาจถูกละเลยมากขึ้นจากน้ำมือแม่ ผู้หญิงถูกละเลยขอบเขตมากขึ้น เราฟังเสียงนักสิทธิมนุษยชนมากกว่าเสียงอัลกุรอ่าน ให้ศึกศาสอัลกุรอ่านให้มากขึ้นและเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ผู้หญิงจงอ่านอัลกุรอ่านเพื่ แสวงหาความรู้และเข้าใจให้มากเผยแผ่ บอกต่อ กล่าวถึง ยุคนี้เราไม่มีเวลาอ่านเพราต้องดิ้นรนให้ครอบครัวอยู่ได้
เมื่อเด็กขาดความอบอุ่นทั้งพ่อและแม่ จะเกเรมากขึ้น เมื่อผู้หญิงมีรายได้มากขึ้นจะไม่เชื่อฟังสามี สถิติหย่าร้างมากขึ้นไม่ใช่สิ่งน่าแปลกใจ ผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ต้องแสวงหาความยุติธรรม กอจ.ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของมุสลิมะฮฺให้มากขึ้น ยิ่งเป็นมุสลิมะฮ์ที่เข้ารับอิสลาม เจอสามีไม่รับผิดชอบครอบครัว ใช้กำลังทำร้าย ยิ่งเลวร้าย มุสลิมเดิมมีหน้าที่นำเสนอความสวยงมของอิสลาม แนะนำให้เข้าใจความเป็นมุสลิม จะได้ไม่ต้องมีคำว่าโชคดีที่รู้จักอิสลามก่อนรู้จักมุสลิม”
ดร.วิสุทธ์ บอกถึงคน 3 ประเภทที่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺคือ 1.คนที่รักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างเครือญาติ อิสลามคือทางสายกลาง รักษาสัมพันธภาพในขอบเขตที่อิสลามกำหนด แม้ครอบครัวเดิมมิใช่มุสลิม 2.คนที่สามีเสียชีวิตหรือหย่าร้างโดยที่สามียังมีชีวิต เลี้ยงดูลูกตามลำพังจนเติบโตโดยไม่แต่งงาน และ 3.คนที่เชิญคนมาทานอาหารโดยไม่เลือกกลุ่มคน
“โดยเฉพาะกลุ่ม 2 ที่มีจำนวนมากขึ้น ควรมีการดูแลกันตั้งแต่ในชุมชนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เดือนรอมฏอนก็ช่วยกันทีนึง แล้วไปช่วยอีกทีรอมฏอนปีหน้า กอจ.ปัตตานีเป็นตัวอย่างที่นำเข้าระบบออนไลน์เป็นที่แรกของเมืองไทยเพื่อการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การอดทนเลี้ยงลูกมีผลตอบแทนที่ไม่มรขีดจำกัด ไม่มีวันสูญเปล่า เด็กได้รู้จักทั้งสุขและทุกข์เพื่อเข้มแข็งต่ออุปสรรคเมื่อโตขึ้น มอบหมาย(ตะวักกัล) ต่ออัลลอฮฺเต็มความสามารถ”
ด้าน ผศ.ดร.โรฮานา สาแม็ง จากม.ฟาตอนี บอกถึงการปรับตัวของแม่เลี้ยงเดี่ยวในยุคโควิดว่า สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงรับได้ทุกบททดสอบคือยกระดับนัฟซู(อารมณ์)ของตนเองสู่นัฟซูที่สันติ
“ในยุคที่เด็กและวัยรุ่นเสียคนง่ายมากจากเทคโนโลยีรอบตัว หากไม่มีอิหม่าน(ความศรัทธา)มาควบคุม การไม่ขาดละหมาด ห่างไกลจากสิ่งไม่ดี และจิตใจแข็งแรง จึงต้องมีทั้งแม่และลูก แม่เลี้ยงเดี่ยวคือคนที่ไม่มีที่ปรึกษา รับบททดสอบอยู่คนเดียว แต่แม่ทำได้ การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพคือการพูดคุย(นาซีฮัต) บอกรักลูกบ่อยๆ พลังของการกอดสำคัญมากๆ ให้แม่เป็นดั่งต้นไม้ที่ดี รากฐานมั่นคง แตกกิ่งก้านใบแผ่กว้าง ออกดอกผลทุกฤดู เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เราไม่มีสามีแต่ดี รักษาความดีของเรา ดูแลลูกให้เป็นประชาชาติที่ดี เป็นหน้าที่ของเรา ด้วยสูตรสำเร็จคือ เมื่อผ่านความลำบากจะได้มาซึ่งความง่ายดาย เมื่อว่างอีกงานก็ทำอีกงาน และทำให้สำเร็จ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น